ReutersReuters

JAPAN:ผู้ว่า BOJ ชี้จะยุติ YCC เมื่อมีแนวโน้มบรรลุเป้าเงินเฟ้อ 2%

โตเกียว--9 พ.ค.--รอยเตอร์

  • นายคาสุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวในวันนี้ว่า บีโอเจจะยุตินโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) และจะเริ่มต้นปรับลดขนาดงบดุลลง เมื่อใดก็ตามที่มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นที่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะบรรุลเป้าหมายที่ระดับ 2% ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เขากล่าวต่อรัฐสภาญี่ปุ่นว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเติบโตเร็วขึ้น และการคาดการณ์เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และเขากล่าวเสริมว่า "เรามองเห็นสัญญาณในทางบวกบางประการในแนวโน้มเงินเฟ้อ ซึ่งรวมถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อ" และระบุว่า "เมื่อใดก็ตามที่เราคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะบรรลุเป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ เราก็จะยกเลิกนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน และหลังจากนั้นเราก็จะดำเนินการปรับลดขนาดงบดุลของบีโอเจ"

  • นายอุเอดะกล่าวเตือนว่าแนวโน้มเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายประการ ซึ่งรวมถึงความไม่แน่นอนในประเด็นที่ว่า การปรับขึ้นค่าแรงอย่างแข็งแกร่งในช่วงนี้จะดำเนินต่อไปเป็นเวลานานหรือไม่ และการปรับขึ้นค่าแรงอย่างแข็งแกร่งจะครอบคลุมไปถึงบริษัทขนาดเล็กหรือไม่ ทั้งนี้ ภายใต้ YCC นั้น บีโอเจกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ราว 0% โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน

  • เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันนี้อยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของบีโอเจ นักลงทุนจึงคาดการณ์กันว่า นายอุเอดะอาจจะปรับลดการใช้ YCC ในเร็ว ๆ นี้ หลังจากมีเสียงวิจารณ์ว่า YCC ส่งผลให้การกำหนดราคาในตลาดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง และสร้างความเสียหายต่อผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ นายอุเอดะเคยกล่าวย้ำหลายครั้งว่า บีโอเจจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นในช่วงนี้ได้รับแรงหนุนส่วนใหญ่มาจากการพุ่งขึ้นของราคานำเข้า แทนที่จะได้รับแรงหนุนมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ในการประชุมกำหนดนโยบายครั้งล่าสุดของบีโอเจในวันที่ 27-28 เม.ย.นั้น บีโอเจได้ยกเลิกการส่งสัญญาณชี้นำนโยบายที่ระบุว่า บีโอเจจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ "ระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่านั้น"

  • บีโอเจได้ประกาศในวันที่ 28 เม.ย.ว่า บีโอเจจะพิจารณาทบทวนการปรับนโยบายการเงินในอดีตด้วย ซึ่งถือเป็นการปูทางไปสู่การปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นพิเศษในอนาคต โดยนายอุเอดะกล่าวว่า การทบทวนนโยบายนี้จะเป็นการพิจารณาข้อดีและผลข้างเคียงจากนโยบายการเงินในอดีต และจะครอบคลุมถึงการจัดเวิร์คช็อปกับนักวิชาการเอกชน นอกจากนี้ เขายังกล่าวเสริมว่า บีโอเจไม่ได้กำหนดแนวทางไว้ล่วงหน้าว่า การทบทวนนโยบายในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อการกำหนดนโยบายการเงินในอนาคต ทั้งนี้ เขากล่าวว่า "เราจะดำเนินขั้นตอนทางนโยบายที่จำเป็นในการประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้งของเรา และเราจะจับตาดูความเคลื่อนไหวด้านเงินเฟ้อและความเคลื่อนไหวทางการเงินด้วย ถึงแม้ว่าเรากำลังพิจารณาทบทวนนโยบายในอดีตในตอนนั้น"

  • อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของผู้บริโภคญี่ปุ่นอยู่ที่ 3.1% ในเดือนมี.ค. ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายเป็นอย่างมาก ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน-พื้นฐานของญี่ปุ่น ซึ่งไม่รวมทั้งราคาอาหารสดและราคาพลังงาน พุ่งขึ้น 3.8% ในเดือนมี.ค. ซึ่งถือเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 1981 หรือครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 40 ปี--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

Login or create a forever free account to read this news

More news from Reuters

More news