ReutersReuters

ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดอลล์อ่อนค่า,บอนด์ยิลด์สหรัฐดิ่งลงตามข่าวรมว.คลัง

นิวยอร์ค--26 พ.ย.--รอยเตอร์

  • ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอ่อนค่าลงในวันจันทร์ หลังจากเพิ่งพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 2 ปีในวันศุกร์ ในขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐเลือกนายสก็อตต์ เบสเซนท์ ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่ของสหรัฐ และนักลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐแสดงความยินดีต่อข่าวนี้ โดยนักลงทุนมองว่านายเบสเซนท์จะรักษาวินัยทางการคลังได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้น หลังจากมีข่าวเรื่องการเลือกนายเบสเซนท์ออกมาในช่วงเย็นวันศุกร์ และปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีดิ่งลงจาก 4.410% ในช่วงท้ายวันศุกร์ สู่ 4.263% ในช่วงท้ายวันจันทร์ โดยการดิ่งลงในครั้งนี้ถือเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 2 ปีรูดลงจาก 4.369% ในช่วงท้ายวันศุกร์ สู่ 4.252% ในช่วงท้ายวันจันทร์ และปัจจัยดังกล่าวลดความได้เปรียบของดอลลาร์ในด้านอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี นายเบสเซนท์เคยกล่าวสนับสนุนค่าดอลลาร์ที่แข็งแกร่ง และเขาสนับสนุนมาตรการเก็บภาษีนำเข้า ดังนั้นนักลงทุนจึงมองว่า ดอลลาร์อาจย่อตัวลงเพียงชั่วคราวเท่านั้น

  • ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 107.35 ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยอ่อนค่าลงจาก 107.49 ในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์ หลังจากพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 2 ปีที่ 108.09 ในวันศุกร์

    ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 154.21 เยนในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยร่วงลงจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ที่ 154.74 เยน

    ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0494 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันจันทร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 1.0417 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันศุกร์ หลังจากดิ่งลงแตะ 1.0333 ดอลลาร์ในวันศุกร์ ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2022

  • ปริมาณการซื้อขายอยู่ในระดับเบาบางก่อนที่ตลาดการเงินสหรัฐจะปิดทำการในวันพฤหัสบดีที่ 28 พ.ย.เนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า ทางด้านนักลงทุนรอดูผลการประเมินครั้งที่สองสำหรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาสสามของสหรัฐ ซึ่งจะได้รับการรายงานออกมาในวันพุธนี้ และรอดูดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนต.ค.ที่รัฐบาลสหรัฐจะรายงานออกมาในวันพุธนี้ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มักใช้ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ นักลงทุนก็รอดูรายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 6-7 พ.ย.ที่จะได้รับการรายงานออกมาในวันอังคารนี้ และรอดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรป (อียู) ในสัปดาห์นี้ด้วย ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นมาแล้ว 8 สัปดาห์ติดต่อกัน และมีสัญญาณทางเทคนิคหลายตัวที่บ่งชี้ว่า มีคำสั่งซื้อดอลลาร์เข้ามามากเกินไปแล้ว โดยดอลลาร์ได้รับแรงหนุนในช่วงที่ผ่านมาจากการคาดการณ์ที่ว่า นโยบายของนายทรัมป์จะกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อ และจะส่งผลบวกต่อค่าดอลลาร์

  • นักลงทุนคาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาส 55.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 ธ.ค. โดยโอกาสดังกล่าวปรับลดลงจากระดับ 75% ที่เคยคาดไว้เมื่อหนึ่งเดือนก่อน และนักลงทุนคาดการณ์อีกด้วยว่า มีโอกาส 44.5% ที่เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.50-4.75% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 17-18 ธ.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนก็คาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันเพียง 0.73% ตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงสิ้นปี 2025 ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่า มีโอกาสราว 40% ที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมเดือนธ.ค. และนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางยุโรปอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันราว 1.50% ตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงสิ้นปีหน้า

  • ยูโรเพิ่งดิ่งลงในวันศุกร์ โดยได้รับแรงกดดันจากผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในวงกว้างในยูโรโซน แต่ผลสำรวจของสหรัฐกลับอยู่ในระดับที่ดีเกินคาด โดยบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอลรายงานในวันศุกร์ว่า ดัชนี PMI ผลผลิตโดยรวมของสหรัฐพุ่งขึ้นจาก 54.1 ในเดือนต.ค. สู่ 55.3 ในเดือนพ.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2022 หรือจุดสูงสุดรอบ 31 เดือน--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

Login or create a forever free account to read this news

More news from Reuters

More news