Mar 13, 2020
ตลาดหลักทรัพย์ไทย ลุ้นทดสอบแนวรับที่ 1,000 จุด ตลาดหุ้นนิวยอร์กติด Circuit Breaker เป็นครั้งที่สองในรอบสัปดาห์ หลังตลาดทรุดตัวลง 10 เปอร์เซ็นต์ ภัยคุกคามจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 สร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุน ต่างนำหุ้นออกเทขาย ส่งผลให้ดาวโจนส์ดิ่งลง 2,352 จุด หวั่นเศรษฐกิจสหรัฐทรุดตัวลงหนัก ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,114.91 จุด ลดลง 134.95 จุด มูลค่าการซื้อขายกว่า 1 แสนล้านบาท สัญญาณทางเทคนิคัลเป็นลบ ทำให้ดัชนีตลาดมีทิศทางปรับตัวลดลงเข้าหาแนวรับทางจิตวิทยาที่ 1,000 จุด นักลงทุนทั่วไปเป็นกลุ่มเดียวที่ซื้อสุทธิ ต่างชาติเดินหน้าขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ปัจจัยทางเทคนิค จากกราฟรายวัน ดัชนีตลาดทรุดตัวลงไปทำจุดต่ำที่ 1,095 จุด ดัชนีตลาดเปิดลงแบบมีช่องว่างขาลง (Gap = 1,184 จุด – 1,249 จุด) ภาวะขายมากเกินจะกระตุ้นแรงซื้อกลับเข้าเก็งกำไร หนุนให้ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นทางเทคนิคัลเพื่อปิดช่องว่างขาลง (Filling the gap) แต่จะเป็นการปรับตัวขึ้นเพื่อลงหรือปรับฐาน เนื่องจากสัญญาณ MACD Histogram เป็น Convergence ที่แสดงว่าดัชนีตลาดยังมีทิศทางเคลื่อนตัวลง และเส้น Multiple Moving Average แบบ Long – Term (MMA2) เรียงตัวแบบตลาดขาลง เป็นการยืนยันว่าดัชนีตลาดยังมีทิศทางปรับตัวลง จากกราฟรายสัปดาห์ ดัชนีตลาดมีแนวโน้มจบคลื่น I,(5),5) ที่ 1,852 จุด ดัชนีมีทิศทางปรับตัวลดลงเป็นคลื่น II,E ที่มีแนวรับทางจิตวิทยาอยู่ที่ 1,000 จุด มีแนวรับ 50.0% Fibonacci Retracement (คำนวณระหว่าง 380 จุดกับ 1,852 จุด) อยู่ที่ 1,116 จุด และมีแนวรับถัดไปอยู่ที่ 942 จุด เมื่อนำจุดต่ำที่ 380 จุด กับจุดสูงที่ 1,852 จุด มาวิเคราะห์แนวรับ จะได้แนวรับดังนี้ 38.0% Fibonacci Retracement = 1,290 จุด 50.0% Fibonacci Retracement = 1,116 จุด 61.8% Fibonacci Retracement = 942 จุด สัญญาณ Oscillator จากกราฟรายวัน สัญญาณทั้งระยะสั้นและระยะยาวเป็นลบ ทำให้ดัชนีตลาดระยะสั้นมีทิศทางปรับตัวลดลงเข้าหาแนวรับทางจิตวิทยาที่ 1,000 จุด ทิศทางตลาดหลักทรัพย์ระยะสั้น มีกรอบแนวต้านอยู่ที่ 1,159 – 1,204 จุด และมีกรอบแนวรับอยู่ที่ 1,070 – 1,045 จุด กลยุทธ์การลงทุน ได้แนะนำให้ล้างพอร์ตการลงทุน จะกลับเข้าซื้อเมื่อสัญญาณ RSI และ MACD Histogram เกิดสัญญาณ Bullish Divergence ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงถึงช่วงปลายตลาดขาลง คำแนะนำ - ในกรณีที่นักลงทุนจะเข้าซื้อ (ทยอย) โดยพิจารณาจากกราฟรายวัน ควรดูพิจารณาสัญญาณ Bullish Divergence ของ RSI จากกราฟรายวัน เพื่อการลงทุนระยะสั้น - ในกรณีที่นักลงทุนจะเข้าซื้อ (ทยอย) โดยพิจารณาจากกราฟรายสัปดาห์ ควรดูพิจารณาสัญญาณ Bullish Divergence ของ MACD Histogram จากกราฟรายสัปดาห์ เพื่อการลงทุนระยะกลาง – ยาว - ในกรณีที่ตลาดเป็น Bear Market มากๆ การเกิดสัญญาณ Bullish Divergence อาจเกิดถึง 3 ยอด (โดยทั่วไปในภาวะที่ตามปกติ สัญญาณ Bullish Divergence ส่วนใหญ่จะเป็นสองยอด)